Savoy, House of (-)

ราชวงศ์ซาวอย (-)


 ราชวงศ์ซาวอย เป็นราชวงศ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดราชวงศ์หนึ่งของยุโรปตะวันตก ออกเสียงในภาษาอิตาลีว่า “ซาโวยา” (Savoia) และ “ซาวัว” (Savoie) ในภาษาฝรั่งเศส ประวัติศาสตร์ของราชวงศ์สามารถแบ่งออกเป็น ๓ ระยะเวลาด้วยกันตามสถานภาพของดินแดนที่ปกครอง ได้แก่ เคาน์ตี (county ค.ศ. ๑๐๒๔-๑๔๑๖) ราชรัฐหรือดัชชี (duchy ค.ศ. ๑๔๑๖-๑๘๒๐) และราชอาณาจักร (kingdom ค.ศ. ๑๘๒๐-๑๙๔๖) ชื่อของราชวงศ์มาจากชื่อของดินแดนซาวอยชี่งปัจจุบันตั้งอยู่ในฝรั่งเศสและอิตาลีการขยายอำนาจของราชวงศ์มิได้เกิดจากการดำเนินนโยบายสงคราม แต่เป็นการดำเนินนโยบายผูกความสัมพันธ์ทางเครือญาติกับรัฐต่าง ๆ โดยให้สมาชิกของตระกูลหรือราชวงศ์เสกสมรสกับทายาทของตระกูลหรือราชวงศ์สำคัญ ๆ ทั้งยังเกิดจากการดำเนินนโยบายทางการทูตและการเมืองอย่างชาญฉลาดอีกด้วย ราชวงศ์ซาวอยประสบความสำเร็จเมื่อเอาเกาะซิซิลีในครอบครองแลกกับเกาะซาร์ดิเนียซึ่งอยู่ในครอบครองของราชวงศ์ฮับส์บูร์ก (Habsburg)* ก่อให้เกิดการจัดตั้งราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย (Kingdom of Sardinia)* หรือราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย (Kingdom of Piedmont-Sardinia)* ขึ้นใน ค.ศ. ๑๗๒๐ ซึ่งรวมเกาะซาร์ดิเนียเข้ากับดินแดนที่ราชวงศ์ครอบครองในตอนเหนือของแผ่นดินใหญ่อิตาลี ทำให้ฐานะประมุขของราชวงศ์ได้รับการเฉลิมพระเกียรติเป็นกษัตริย์ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาราชวงศ์ซาวอยก็มีบทบาทและอิทธิพลในคาบสมุทรอิตาลีมากขึ้นเป็นลำดับใน ค.ศ. ๑๘๖๑ พระประมุขสามารถเป็นผู้นำในการรวมชาติอิตาลี (Unification of Italy)* และสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีสมาชิกของราชวงศ์ซาวอยจำนวน ๔ พระองค์ได้ปกครองราชอาณาจักรอิตาลีติดต่อกันระหว่าง ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๙๔๖ ก่อนที่รัฐสภาอิตาลีจะจัดให้มีการลงประชามติและเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบกษัตริย์เป็นแบบสาธารณรัฐ

 ประวัติราชวงศ์ซาวอยย้อนหลังไปถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๑ โดยมีอุมแบร์โต หัตถ์ขาว (Umberto the White-Handed) ขุนนางเบอร์กันดี หรือ อุมแบร์โต บีอันกามาโน (Umberto Biancamano มีชีวิตอยู่ระหว่าง ค.ศ. ๑๐๐๓-๑๐๔๘) ปกครองเคาน์ตีแห่งชาวอยใน ค.ศ. ๑๐๒๔ เป็นต้นตระกูลหรือต้นราชวงศ์ โดยมีดินแดนในปกครองเหนือเทือกเขาอัลไพน์ (Alpine) และควบคุมเส้นทางที่ทอดผ่านเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เส้นทางเซนต์เบอร์นาร์ดหรือแซงแบร์นาร์ (St. Bernard) และเส้นทางมงเซอนี (Mt. Cenis) ทั้งตั้งอยู่ระหว่างฝรั่งเศสกับอิตาลี ต่อมา ออตโตแห่งซาวอย (Otto of Savoy ค.ศ. ?-๑๐๖๐) บุตรชายซึ่งได้รับสืบทอดตำแหน่งเคานต์แห่งซาวอยได้สมรสกับอาเดลาอีเด (Adelaide ค.ศ. ?-๑๐๙๑) ทายาทหญิงแห่งตูริน ทำให้ตระกูลซาวอยสามารถขยายอาณาเขตเข้าครอบครองดินแดนปีดมอนต์ (Piedmont) เกือบทั้งหมดระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ ๑๒-๑๔ ตระกูลซาวอยได้ดำเนินกุศโลบายให้สมาชิกของตระกูลสมรสกับตระกูลหรือราชวงศ์สำคัญ ๆ ของยุโรป ตระกูลจึงมีทรัพย์สมบัติพอกพูนขึ้นทั้งในฝรั่งเศส อังกฤษ คาบสมุทรอิตาลี และดินแดนสวิตเซอร์แลนด์ สมาชิกคนที่สำคัญคนหนึ่ง ได้แก่ เอลินอร์แห่งพรอว็องซ์ (Eleanor of Provence) พระมเหสีในพระเจ้าเฮนรีที่ ๓ (Henry III ค.ศ. ๑๒๑๖-๑๒๗๒ อภิเษกสมรสใน ค.ศ. ๑๒๓๖) และทรงเป็นพระราชมารดาในพระเจ้าเอดเวิร์ดที่ ๑ (Edward I ค.ศ. ๑๒๗๒-๑๓๐๗) ทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้สมาชิกคนอื่น ๆ ของตระกูลดำรงตำแหน่งขุนนางและนักบวชระดับสูง

 ในสมัยของเคานต์อามาเดอุสที่ ๕ ผู้ยิ่งใหญ่ (Amadeus V the Great ค.ศ. ๑๒๘๔-๑๓๒๓) ได้มีการจัดทำกฎเกณฑ์หรือระเบียบในการสีบทอดตำแหน่งเคานต์แห่งซาวอยขึ้นใหม่ โดยให้สิทธิแก่บุตรชายคนโตเท่านั้นในการสืบทอดตำแหน่งและทรัพย์สมบัติ (primogeniture) ในปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ เคานต์อามาเดอุสที่ ๗ (Amadeus VII ค.ศ. ๑๓๘๔-๑๓๙๑) ได้ครอบครองเมืองนีซ ซึ่งทำให้ซาวอยมีเมืองท่าออกสู่ทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและมีบทบาทในการค้าขาย

 ใน ค.ศ. ๑๔๑๖ จักรพรรดิซิกิสมุนด์ (Sigismund ค.ศ. ๑๔๑๐-๑๔๓๗) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (Holy Roman Empire)* ทรงสถาปนาเคานต์อามาเดอุสที่ ๘ (Amadeus VIII ค.ศ. ๑๓๙๑-๑๔๔๐) เป็นดุ๊กซึ่งเท่ากับยกฐานะของเคาน์ตีขึ้นเป็นดัชชีหรือราชรัฐ และให้ราชรัฐซาวอยเป็นอิสระจากการควบคุมของจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ในฐานะเป็นดินแดนในระบอบการปกครองแบบฟิวดัล (feudalism) ใน ค.ศ. ๑๔๓๔ ดุ๊กอามาเดอุสที่ ๘ ทรงยกอำนาจการปกครองให้แก่เจ้าชายหลุยส์ (Louis) โอรส และออกผนวชใน ค.ศ. ๑๔๓๙ อีก ๑ ปี ต่อมา สภาแห่งบาซิล (Council of Basil) เลือกพระองค์เป็นสันตะปาปาคู่แข่ง (antipope) มีพระนามอภิเษกว่า สันตะปาปาเฟลิกซ์ที่ ๔ (Felix IV) ก่อให้เกิดความแตกแยกทางศาสนาอีกครั้ง ต่อมาใน ค.ศ. ๑๔๔๙ จึงทรงลาออกจากตำแหน่ง

 ใน ค.ศ. ๑๔๙๖ รัชทายาทสายตรงหรือมหาสาขาได้สิ้นสายลง ตำแหน่งดุ๊กแห่งซาวอยจึงตกเป็นของดุ๊กฟีลีแบร์ที่ ๒ (Philibert II ค.ศ. ๑๔๙๗-๑๕๐๔) และดุ๊กชาลส์ที่ ๓ (Charles III ค.ศ. ๑๔๐๔-๑๔๔๓) ตามลำดับชาลส์ที่ ๓ ทรงให้ความร่วมมือกับจักรพรรดิชาลส์ที่ ๕ (Charles V ค.ศ. ๑๔๑๙-๑๔๔๖) แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์ก [ขณะเดียวกันพระองค์ก็ทรงมีอิสริยยศพระเจ้าชาลส์ที่ ๑ (Charles I ค.ศ. ๑๕๑๖-๑๕๕๖) เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปนด้วย] ทำสงครามกับพระเจ้าฟรานซิสที่ ๑ (Francis I ค.ศ. ๑๔๙๔-๑๕๔๗) แห่งฝรั่งเศส ซึ่งมีผลให้ราชวงศ์ซาวอยต้องสูญเสียดินแดนต่าง ๆ ให้แก่ ฝรั่งเศส ดังนั้น เมื่อดุ๊กเอมมานูเอล ฟีลีแบร์ (Emmanuel Philibert ค.ศ. ๑๕๕๓-๑๕๘๐) ขึ้นครองราชรัฐชาวอยใน ค.ศ. ๑๕๕๓ พระองค์ทรงพยายามที่จะกอบกู้ราชสมบัติของราชรัฐโดยทรงร่วมมือกับราชวงศ์ฮับส์บูร์กสายสเปนทำสงครามกับฝรั่งเศสต่อไป และได้รับแต่งตั้งเป็นข้าหลวงของเนเธอร์แลนด์ระหว่าง ค.ศ. ๑๕๕๕-๑๕๕๙ ในช่วงเวลานี้ พระองค์ทรงนำทัพสเปนเข้ารุกรานตอนเหนือของฝรั่งเศสและประสบชัยชนะในการรบที่แซงก็องแต็ง (St. Quentin) ใน ค.ศ. ๑๕๕๗ ขณะเดียวกัน ดุ๊กเอมมานูเอลฟีลีแบร์ก็ทรงใช้ประโยชน์จากการที่นานาประเทศมีปัญหาและความขัดแย้งระหว่างกันค่อย ๆ กอบกู้ดินแดนต่าง ๆ ที่เคยสูญเสียไปกลับคืนมาทั้งจากฝรั่งเศสและสเปนรวมทั้งนครตูรินด้วย ต่อมาก็ทรงย้ายเมืองหลวงของราชรัฐจากกรุงชองเบรี (Chambéry) มายังกรุงตูริน และใช้ภาษาละตินเป็นภาษาราชการแทนภาษาอิตาลี นอกจากนี้ สนธิสัญญากาโต-กองเบรซี (Treaty of Cateau-Cambrésis ค.ศ. ๑๕๕๙) ยังทำให้ราชวงศ์ซาวอยได้รับสิทธิในการครอบครองดินแดนในสมาพันธรัฐสวิตเซอร์แลนด์อีกครั้งด้วย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เจ้าราชรัฐทุกพระองค์ทรงพยายามดำเนินนโยบายอะลุ้มอล่วยและรับใช้ทั้งแก่สเปนและฝรั่งเศส และสามารถสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ดินแดนในปกครองเป็นอย่างมาก กรุงตูรินกลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของราชรัฐ ขณะเดียวกัน ดุ๊กชาลส์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Charles Emmanuel II ค.ศ. ๑๖๓๘-๑๖๗๔) ก็ทรงพัฒนาท่าเรือที่เมืองนีซและสร้างถนนจากเทือกเขาแอลป์ไปยังฝรั่งเศส

 ในรัชสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ (Louis XIV ค.ศ. ๑๖๔๓-๑๗๑๕) แห่งฝรั่งเศส ราชรัฐชาวอยถูกฝรั่งเศสบีบให้ดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนองนโยบายการขยายอำนาจเข้าไปครอบครองดินแดนแผ่นดินตํ่า (Low Countries) ของฝรั่งเศส ในที่สุด ดุ๊กวิกเตอร์ อามาเดอุสที่ ๒ (Victor Amadeus II ค.ศ. ๑๖๗๔-๑๗๓๐) จึงทันไปร่วมมือกับสเปนและจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ศัตรูเก่าของฝรั่งเศสโดยรวมตัวในสันนิบาตแห่งเอาก์สบูร์ก (League of Augsburg) ที่จัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. ๑๖๘๖ และเข้าสู่สงครามแห่งสันนิบาตเอาก์สบูร์ก (War of the League of Augsburg) กับฝรั่งเศส ต่อมาใน ค.ศ. ๑๗๐๓ ชาวอยก็เข้าร่วมในพันธมิตรที่ยิ่งใหญ่แห่งเฮก (Grand Alliance of the Hague) ประกอบด้วยอังกฤษ สหมณฑล (United Provinces) หรือเนเธอร์แลนด์ บรันเดนบูร์ก-ปรัสเซีย (Brandenburg-Prussia) และออสเตรีย ทำสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน (War of the Spanish Succession ค.ศ. ๑๗๐๑-๑๗๑๔) เพื่อสกัดกั้นการครองราชบัลลังก์ของฟิลิป ดุ๊กแห่งอองจู [Philip, Duke of Anjou ซึ่งขณะนั้นเสด็จขึ้นครองราชสมบัติสเปนแล้วในพระนามพระเจ้าฟิลิปที่ ๕ (Philip V)] พระราชนัดดาในพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ การแผ่อำนาจของราชวงศ์บูร์บง (Bourbon)* ของฝรั่งเศส ตลอดจนการรักษาดุลแห่งอำนาจของยุโรประหว่างสงครามกองทัพฝรั่งเศสได้เข้ายํ่ายีดินแดนของซาวอย แต่ใน ค.ศ. ๑๗๐๖ ดุ๊กวิกเตอร์ อามาเดอุสที่ ๒ และนายพลยูจีน เจ้าชายแห่งซาวอย (Eugene, Prince of Savoy) สามารถนำกองทัพซาวอยเข้ายึดกรุงตูรินคืนมาได้

 เมื่อสงครามการสืบราชบัลลังก์สเปนสิ้นสุดลงด้วยสนธิสัญญายูเทรกต์ (Treaty of Utrecht ค.ศ. ๑๗๑๓) ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงดุลแห่งอำนาจในคาบสมุทรอิตาลีโดยสเปนต้องยกเนเธอร์แลนด์ของสเปน (Spanish Netherlands) หรือต่อมาคือเบลเยียม รวมทั้งมิลาน เนเปิลส์ และซาร์ดิเนียให้แก่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กแห่งออสเตรีย นอกจากนั้น สนธิสัญญาแห่งลอนดอน (Treaty of London ค.ศ. ๑๗๑๘) ยังกำหนดให้มีการจัดตั้งราชอาณาจักรซาร์ดิเนียอีกด้วยโดยก่อนหน้านี้ดุ๊กวิกเตอร์ อามาเดอุสที่ ๒ ทรงตกลงที่จะยกซิซิลีให้แก่ราชวงศ์ฮับส์บูร์กเพื่อแลกกับซาร์ดิเนีย ต่อมาได้ มีการลงสัตยาบันข้อแลกเปลี่ยนดังกล่าวอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญาเฮก (Treaty of Hague) ในวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๗๒๐ นับเป็นจุดกำเนิดของราชอาณาจักรซาร์ดิเนียอย่างเป็นทางการ หรือต่อมาเรียกว่าราชอาณาจักรปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ขณะเดียวกัน ดุ๊กแห่งซาวอยในฐานะประมุขของซาร์ดิเนียซึ่งเป็นดินแดนที่มีสถานภาพเป็นราชอาณาจักรตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๔ ก็ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศจากดุ๊กแห่งซาวอยเป็นกษัตริย์แห่งราชอาณาจักรซาร์ดิเนีย

 นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ประวัติของราชวงศ์ซาวอยก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ราชอาณาจักรปีดมอนต์ซาร์ดิเนีย ในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เมื่อกระแสเสรีนิยมและชาตินิยมในคาบสมุทรอิตาลีมีความเข้มข้นขึ้น พระประมุขของราชวงศ์ซาวอยทรงมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ต่อต้านอำนาจชองราชวงศ์ฮับส์บูร์กและออสเตรียที่ปกครองดินแดนต่าง ๆ ในคาบสมุทรอิตาลี ในที่สุดก็สามารถขับออสเตรียออกจากอิตาลีได้เกือบทั้งหมดยกเว้นวินีเชีย (Venetia) และสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีได้สำเร็จ ใน ค.ศ. ๑๘๖๑ โดยมีพระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (Victor Emmanuel II กษัตริย์แห่งปีดมอนต์-ซาร์ดิเนีย ค.ศ. ๑๘๔๙-๑๘๖๑)* เป็นกษัตริย์พระองค์แรกของราชอาณาจักรอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. ๑๘๖๕ และ ค.ศ. ๑๘๗๐ ก็สามารถยึดวินีเชียจากออสเตรียและกรุงโรมจากคริสตจักรคาทอลิกได้ตามลำดับ และจัดตั้งกรุงโรมเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรแทนกรุงตูริน ทำให้การรวมชาติอิตาลีมีความสมบูรณ์

 ราชวงศ์ชาวอยมีกษัตริย์ที่ปกครองราชอาณาจักรอิตาลีรวม ๔ พระองค์ ได้แก่ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๒ (ค.ศ. ๑๘๖๑-๑๘๗๘) พระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๑ (Umberto I ค.ศ. ๑๘๗๘-๑๙๐๐)* พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ (Victor Emmanuel III ค.ศ. ๑๙๐๐-๑๙๔๖)* และพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ (Umberto II ค.ศ. ๑๙๔๖ สวรรคตใน ค.ศ. ๑๙๘๓)* ซึ่งปกครองเพียงไม่กี่สัปดาห์ ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๔๔ ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War ค.ศ. ๑๙๓๙-๑๙๔๕)* จะยุติ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงโอนพระราชอำนาจเกือบทั้งหมดแก่เจ้าชายอุมแบร์โตมกุฎราชกุมาร อีก ๒ เดือนต่อมา กรุงโรมก็ได้รับการปลดปล่อยจากกองทัพพันธมิตรและพระองค์ก็ถ่ายโอนพระราชอำนาจที่เหลือให้แก่เจ้าชายอุมแบร์โต พร้อมกับทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสมีตำแหน่งเป็นนายพลโทแห่งกองทัพอิตาลี อย่างไรก็ดี อีก ๑ ปีต่อมารัฐบาลอิตาลี ได้กำหนดให้มีการลงประชามติเพื่อให้ชาวอิตาลีเลือกระบอบการปกครองระหว่างระบอบกษัตริย์กับระบอบสาธารณรัฐ พระเจ้าวิกเตอร์เอมมานูเอลที่ ๓ ทรงหวังว่าจะแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้น ด้วยการตัดสินพระทัยสละราชสมบัติในวันที่ ๙ พฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๖ ก่อให้เกิดการผลัดบัลลังก์ขึ้นในราชอาณาจักรอิตาลี โดยเจ้าชายอุมแบร์โต มกุฎราชกุมารได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ อย่างไรก็ดี ผลการลงประชามติในเวลาต่อมาผู้เห็นด้วยกับการปกครองระบอบสาธารณรัฐมีจำนวนร้อยละ ๕๔ พระเจ้าวิกเตอร์ เอมมานูเอลที่ ๓ อดีตกษัตริย์ จึงเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศ ในปีรุ่งขึ้นเสด็จสวรรคต ณ เมืองอะเล็กซานเดรีย (Alexandria) ในอียิปต์

 ในวันที่ ๑๒ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๔๖ ราชอาณาจักรอิตาลีก็สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ โดยพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ หรือทรงได้รับฉายานามต่อมาว่า “กษัตริย์เดือนพฤษภาคม” (May King) ทรงมอบพระราชอำนาจทั้งหมดที่ทรงมีตามรัฐธรรมนูญให้แก่นายกรัฐมนตรีอัลชีเด เด กัสเปรี (Alcide de Gasperi)* และเรียกร้องให้ประชาชนชาวอิตาลีให้การสนับสนุนระบอบสาธารณรัฐด้วย หลังจากนั้น เสด็จลี้ภัยไปประทับยังโปรตุเกส ส่วนทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของราชวงศ์ถูกรัฐบาลยึด นับเป็นการสิ้นสุดของราชวงศ์ซาวอยที่มีบทบาทสำคัญในการรวมชาติและการสถาปนาราชอาณาจักรอิตาลีใน ค.ศ. ๑๘๖๑ และการปกครองราชอาณาจักรอิตาลีเป็นเวลา ๘๕ ปี

 อย่างไรก็ดี แม้อิตาลีจะเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว แต่เพื่อเป็นการลงโทษราชวงศ์ซาวอยที่ให้การสนับสนุนเบนีโต มุสโสลีนี (Benito Mussolini)* ผู้นำลัทธิฟาสซิสต์ (Fascism)* ที่นำชาติไปสู่ความล่มจมและ ความอัปยศในสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐธรรมนูญของสาธารณรัฐอิตาลีจึงห้ามมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเพื่อรื้อสิ้นระบอบการปกครองแบบกษัตริย์ ทั้งยังห้ามมีให้ทายาทชายของราชวงศ์ซาวอยทุกพระองค์เดินทางเข้าอิตาลี ต่อมาข้อห้ามดังกล่าวได้ถูกยกเลิกใน ค.ศ. ๒๐๐๒ โดยวิตตอริโอ เอมมานูเอล เจ้าชายแห่งเนเปิลส์ (Vittorio Emmanuel, Prince of Naples ค.ศ. ๑๙๓๗-) พระราชโอรสพระองค์เดียวในพระเจ้าอุมแบร์โตที่ ๒ ทรงยินยอมสละสิทธิ์ต่าง ๆ ในการเรียกร้องหรือการสืบราชบัลลังก์อิตาลีเพื่อแลกกับสิทธิ์ในการเดินทางเข้าอิตาลี ต่อมาใน ค.ศ. ๒๐๐๗ คณะทนายความซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าชายวิตตอรีโอ เอมมานูเอล และเอมมานูเอล ฟีลีแบร์ (Emmanuel Philibert) บุตรชายได้ยื่นจดหมายต่อประธานาธิบดีจอร์จีโอ นาโปลีตาโน (Giorgio Napolitano) เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายระหว่างที่สมาชิกราชวงศ์ต้องใช้ชีวิตลลี้ภัยในต่างแดน เอมมานูเอล ฟีลีแบร์ยังให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์เรียกร้องสิทธิความเป็นเจ้าของวังกวีรีนาเล (Quirinale Palace) และตำหนักอาดา (Villa Ada) อีกด้วย แต่รัฐบาลอิตาลีปฏิเสธที่จะรับฟังทั้งยังออกเอกสารทางการว่าราชวงศ์ซาวอยไม่ได้รับความเสียหายใด ๆ ในขณะที่ลี้ภัยในต่างประเทศ แต่อิตาลีต่างหากที่เป็นฝ่ายได้รับความเสียหายจากราชวงศ์ซาวอยที่ให้ความร่วมมือและสมรู้ร่วมคิดกับมุสโสลีนีขณะที่มีอำนาจปกครองประเทศมากกว่า.



คำตั้ง
Savoy, House of
คำเทียบ
ราชวงศ์ซาวอย
คำสำคัญ
- กัสเปรี, อัลชีเด เด
- การรบที่แซงก็องแต็ง
- การรวมชาติอิตาลี
- นาโปลีตาโน, จอร์จีโอ
- เนเธอร์แลนด์ของสเปน
- บีอันกามาโน, อุมแบร์โต
- พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่
- พันธมิตรที่ยิ่งใหญ่แห่งเฮก
- ฟีลีแบร์, เอมมานูเอล
- มุสโสลีนี, เบนีโต
- ระบอบการปกครองแบบฟิวดัล
- ลัทธิฟาสซิสต์
- วินีเชีย
- สงครามการสืบราชบัลลังก์สเปน
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามแห่งสันนิบาตเอาก์สบูร์ก
- สนธิสัญญากาโต-กองเบรซี
- สนธิสัญญายูเทรกต์
- สนธิสัญญาเฮก
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหมณฑล
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
อนันต์ชัย เลาหะพันธุ
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-